การฟ้องคดีแบบกลุ่ม ใครเป็นคนรับภาระ เรื่อง ค่าใช้จ่าย เช่น ค่าจ้างทนาย ค่าธรรมเนียมศาล

ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี แบ่งได้เป็น 4 ส่วน
1.ค่าธรรมเนียมศาล
– ค่าขึ้นศาล โจทก์นำฟ้องซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มเป็นคนเสียหาย ประมาณร้อยละ 2 ของ ทุนทรัพย์ที่ฟ้องเฉพาะของโจทก์ (ตามตารางค่าฤชาธรรมเนียมที่กำหนดไว้ในกฎหมาย) ยกเว้นกรณีที่เป็นคดีผู้บริโภคจะไม่เสียค่าขึ้นศาล เนื่องจากธุรกรรมภายใต้ พรบ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ไม่เข้าเกณฑ์คดีผู้บริโภค ดังนั้น โจทก์ตาม พรบ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์จะต้องชำระค่าขึ้นศาลเต็มจำนวนในทันทีเมื่อยื่นคำร้อง
– ค่ายื่นคำขอรับชำระหนี้ สมาชิกกลุ่มที่ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้เป็นคนเสีย
(200 บาท)
– ค่าคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของกรมบังคับคดี สมาชิกกลุ่มที่ยื่นคำคัดค้านเป็นคนเสีย (200 บาท)
– ค่าขึ้นศาลในกรณีที่มีการอุทธรณ์เรื่องการขอรับชำระหนี้ สมาชิกกลุ่มที่ยื่นอุทธรณ์เป็นคนเสีย (200 บาท)
– ค่าขึ้นศาลในกรณีที่มีการอุทธรณ์เรื่องเงินรางวัลของทนายความ ทนายความที่ยื่นอุทธรณ์เป็นคนเสีย


2.ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในชั้นศาล
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแบบกลุ่มที่จะเกิดขึ้นในกระบวนการของศาลนั้น มีหลายอย่าง เช่น ค่าส่งคำบอกกล่าว ค่าประกาศหนังสือพิมพ์ เป็นต้น ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะเกิดมีขึ้นระหว่างการดำเนินคดีของศาล ซึ่งตามมาตรา 222/14 กำหนดให้ โจทก์เป็นผู้วางเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าว


3.ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีที่เกิดขึ้นนอกศาล
ค่าใช้จ่ายอื่นๆนอกจาก ข้อ 1-2 ข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นค่าจัดเตรียมเอกสาร ค่าแรงงานหรือกำลังคนในการแสวงหาข้อเท็จจริง/จัดเตรียมข้อมูลและพยานหลักฐาน ค่าวิชาชีพทนายความที่ร่วมทำงาน ค่าว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้หรือความเห็นเฉพาะด้าน ค่าทำแบบสำรวจความเสียหาย ค่าทำแบบสำรวจผู้เสียหาย ค่าถ่ายเอกสาร ค่าใช้จ่ายในการติดต่อสื่อสาร ค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานต่างๆ ค่าพาหนะ ค่าสถานที่ในการประชุมหรือดำเนินการต่างๆ ฯลฯ ทั้งหมดล้วนเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนอกศาล ซึ่งเป็นภาระของทนายความกลุ่มเป็นผู้รับผิดชอบ


4.ค่าจ้างทนายความ
ในกรณีคดีสามัญทั่วไป โจทก์ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีทั้งหมด รวมถึงค่าจ้างทนายความด้วย แต่ในกรณีของคดีแบบกลุ่ม โจทก์จำนวนมากมีมูลค่าความเสียหายแตกต่างกัน และอาจไม่คุ้มที่จะดำเนินคดีเอง เจตนารมณ์ของกฎหมายจึงกำหนดเงินรางวัลให้แก่ทนายความในเชิงวัดผลตามประสิทธิผล และประสิทธิภาพโดยพิจารณาจากความยากง่ายของรูปคดีและพิจารณาเป็นร้อยละของมูลค่าความเสียหายจริง ที่โจทก์และสมาชิกกลุ่มได้รับจากคดี โดยให้จำเลยที่แพ้คดีเป็นคนรับผิดชอบจ่ายเงินรางวัลทนายความเมื่อคดีสิ้นสุด โดยกฎหมายมุ่งหวังให้เงินรางวัลทนายความนี้เป็นแรงจูงใจให้ทนายความทำงานด้วยความสุขุมรอบคอบ มีความตั้งใจจริง โดยมีวัตถุประสงค์ ร่วมให้ตลาดทุนไทยมีความมั่นคง โปร่งใส ปราศจากการทุจริต โดยเฉพาะต่อนักลงทุนรายบุคคล ซึ่งเป็นผู้ที่นำเงินออมมาลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงของการแพ้คดี ทนายความกลุ่มจึงต้องพิจารณาหลักฐานต่างๆ ด้วยความรอบคอบ รอบรู้ด้านกฎหมาย พรบ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เป็นอย่างดี ก่อนตกลงรับว่าความคดีแบบกลุ่ม เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อตลาดทุนโดยรวม โจทก์ สมาชิกกลุ่ม และตัวทนายความกลุ่มเองด้วย
ในปัจจุบัน แนวทางตามคำพิพากษาของศาลที่ผ่านมา ในการดำเนินคดีแบบกลุ่มตาม พรบ.คุ้มครองผู้บริโภคนั้น พบว่าอัตราเงินรางวัลทนายความไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้ทนายความดำเนินการตามเจตนารมย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังไม่เคยมีการดำเนินคดีแบบกลุ่มตาม พรบ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แต่อย่างไร จึงเป็นการยากที่ทนายความจะประมาณการผลตอบแทนในการดำเนินคดีได้ อย่างไรก็ดี กฎหมายไม่มีข้อห้ามที่จะมีการตกลงค่าใช้จ่ายระหว่างโจทก์ที่เป็นตัวแทนผู้เสียหายแบบกลุ่มหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง กับ ทนายความกลุ่มในเบื้องต้นเพื่อให้การดำเนินคดีแบบกลุ่มบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมดังกล่าวโดยไม่รอช้า