06 Aug 2019
August 6, 2019

Corporate Actions

0 Comment

           

           การบังคับใช้ทางกฏหมาย จะบังเกิดเมื่อ มีการกระทำผิดกฏหมาย แต่หากไม่มีระบุในข้อกฏหมาย เราเรียกกันว่า มารยาท,จริยธรรม,จรรยาบรรณ และ กลายเป็นอีกคำ ที่ครอบคลุม เข้าใจกันโดยวงกว้าง คือ “ ธรรมาภิบาล”

        วงล้อมของสังคม ผ่านการตั้งคำถาม อาจมีส่วนช่วยกระตุ้นห้วงสำนึกดี ของผู้บริหาร กรณีที่อาจเพลินกับการใช้อำนาจในการบริหารจัดการ ที่ลืมเลือน ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไปชั่วขณะ เพราะโลภะครอบงำ

        หลายเรื่องราว ที่เกิดขึ้น ขอนำมาเล่าสู่กันฟัง ด้วยการตรวจสอบเจอโดย ฝีอมือ “ผู้สอบบัญชี” ที่ทำหน้าที่อย่างเข้มข้น ในการตรวจสอบงบการเงิน มาตรฐาน KAM-Key Audit Metter ที่ใช้บังคับ จึงเป็นร่องรอยให้นักลงทุนได้รับข้อมูล ดังตัวอย่างดังต่อไปนี้

        บริษัท A : ทำธุรกิจเช่าซื้อ มีรายการของบริษัทย่อยในต่างประเทศ ให้บริษัทอื่นกู้ยืมเงิน 3,477 ล้านบาท ก้อนโต คิดเป็นร้อยละ 40 ของสินทรัพย์สุทธิรวม ผู้สอบสอบบัญชี รายงานหน้างบ ว่า มีความสงสัยว่า สินทรัพย์ค้ำประกัน มีราคาสูงเกินไป อาจเกิดความเสี่ยง ในการรับรู้หนี้สงสัยจะสูญ

           แปลความ ง่าย ๆ ว่า มีแววขาดทุนจากการปล่อยเงินกู้ เพราะหลักประกันน้อยกว่า แถมยังเจอเงินไหลย้อน จากบริษัทลูก ไหลมาจ่ายดอกเบี้ยให้บริษัทแม่ เล่นกลทางการเงินแบบนี้ ผู้สอบบัญชีไปเจอ ถึงกับผงะ ต้องแจงถี่ยิบ จนหุ้นผันผวน สวิงยิ่งกว่าชิงช้าสวรรค์ มาวันนี้ บริษัท A น่าจะวูบ หมดอนาคต ผู้ถือหุ้นรับกรรมที่ตัวเองไม่ได้ก่อ ส่วนผู้บริหารและกรรมการ ตอบไม่ได้ว่าพวกเขาจะเป็นเช่นใด

        บริษัท B : ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง  ซึ่งตามเกณฑ์ปกติ คือ การรับรู้รายได้ตามการแล้วเสร็จของงาน ธุรกิจแบบนี้ มักจะมีบริษัทลูกเยอะ เงินไหลออกหลายทิศทาง มีการกระจายของงานรับเหมา อิฐ หิน ดินทราย ความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เป็นการประมาณการต้นทุนโครงการก่อสร้าง สาระขั้นต่อไป คือ ระบบควบคุมภายใน การจัดซื้อ จัดจ้าง

        ผลของการทำงานก่อสร้าง บริษัทแม่ขาดทุน แต่ยังรับงาน ผู้ถือหุ้นไม่ได้รับเงินปันผล ราคาหุ้นดิ่ง ทิ้งตัว ผู้ถือหุ้นรับกรรมที่ตัวเองไม่ได้ก่อ ส่วนผู้บริหารและกรรมการ ตอบไม่ได้ว่าพวกเขาจะเป็นเช่นใด

           บริษัท C : ทำธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รู้กันว่า รายได้จากงานประเภท Non-Voice คือ ไม่ต้องพูดกัน เป็นบริการด้านข้อมูล นิยมกันมาก มักจะมีรายได้มากกว่า 40% ส่วนรายได้จากการยกหูคุยกัน มีราว 34%

           ข้อสังเกต ที่มีนัยยะ คือ รายได้จากระบบเติมเงิน, ระบบจ่ายรายเดือน ส่วนรายจ่าย คือ ต้นทุนค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม รวมทั้งข้อพิพาทที่ต้องเปิดเผย อาทิ ภาระผูกพันในหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร,สัญญาเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม ตามประกาศของ กทช.,ภาษีสรรพสามิต ตลอดจน เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคม ตัวอย่าง ที่เห็นกันชัดๆ คือ ดิจิตัลทีวี จ่ายค่าสัมปทานกันนับพันล้าน เหลือรอดไม่กี่ราย ผู้ถือหุ้นรับกรรมที่ตัวเองไม่ได้ก่อ ส่วนผู้บริหารและกรรมการ ตอบไม่ได้ว่าพวกเขาจะเป็นเช่นใด

           นับว่า เป็นการแจกแจงลงลึกในรายละเอียด ในหลายมุม ระบบการบัญชี ตามมาตรฐาน KAM จะมีส่วนช่วยให้ผู้บริหารระมัดระวัง การบริหารงานมากยิ่งขึ้น เพราะต้องตอบคำถามไปมา ของการบริหารความเสี่ยง การวางแผนงานในอนาคต ที่ต้องคำนึงวางแผนรับมือกับความเสี่ยง ในทุกรูปแบบ

           ด่านแรกที่ผู้บริหารต้องอธิบาย คือ ผู้สอบบัญชี และจะนำข้อมูลที่ให้ข้อมูลนั้นบันทึกลงในหน้าแรก ให้อ่านกันเห็นๆ ผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน จึงต้องอ่าน ทำความเข้าใจ ติดตาม และสอบถามหากมีประเด็นสงสัย

           นับว่า เป็นงานสอบทาน สอง-สามรอบ ที่ผู้บริหารต้องตอบ ในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น เมื่อมีข้อผิดปกติ เช่น ผู้สอบไม่แสดงความคิดเห็นต่องบการเงิน ด่านแรกส่งสัญญาณแล้ว ผู้ลงทุน ย่อมต้องตื่นตัว เพราะกระเทือนต่อราคาหุ้นในพอร์ตของตัวเอง แน่นอน

           Market Force  จึงเป็นมาตรการทางสังคม ที่เข้ม ๆ ประหนึ่งเปิดสปอร์ตไลน์ ไฟส่องให้เห็นไส้พุง แบบนี้แหละ กลัวกันนัก ขโมยมักมากับความมืด ฉันใด กลโกงมักชอบแฝงเร้น กับช่องว่างของข้อกฏหมายฉันนั้น มาตรการทางสังคมจึงเป็น “อาวุธ” ที่แหลมคม ช่วยกันแฉ ช่วยกันถาม ตอบได้ต้องปรบมือ ตอบไม่ได้ต้องเกาะติด ว่ากันว่า… บางเรื่อง อาจได้ผลดีกว่า เร็วกว่า การบังคับใช้ตามกฏหมายซะอีก แต่ทุกเรื่องหากผิดกฏหมาย ต้องว่ากันตามกระบวนการยุติธรรม

………………………………………………………………………………….