“คุณรพี สุจริตกุล” เลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. คนที่ 6 รับตำแหน่งนี้ เมื่อ 4 ปี ก่อน เวลาผ่านไปเพียงกระพริบตา 30 เมษา นี้ เขากำลังจะหมดวาระลง เป็นเรื่องปกติของชีวิตคนทำงานที่หมุนไปตามกาลเวลา และวาระหน้าที่+ ความรับผิดชอบ
เป็นเชื้อสายของเจ้านายฝ่ายเหนือ ชื่อ “รพี” ประหนึ่งถูกลิขิตมาให้เรียนกฏหมาย ทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท ที่ประเทศอังกฤษ กลับมาทำงานธนาคารแห่งประเทศไทย และโยกมาเป็นคนทำงานรุ่นแรกๆ ของการจัดตั้ง ก.ล.ต. เมื่อปี 2535 จากนั้นลาออกไปร่วมงานกับภาคเอกชนพักใหญ่ ด้วยข่าวลือที่ว่า”อกหัก” จากตำแหน่งเบอร์หนึ่งขององค์กรแห่งนี้ และได้หวนกลับมารับงานในก้าวสู่ยุคดิจิตอลและหลายงานมาตกลงตรงหน้า ให้ร่วมอยู่ในบันทึกหน้าประวัติศาสตร์
อาจเป็นความโชคดีขององค์กรที่ผู้นำมีประสบการณ์อีกซีกของความเข้าใจ ผู้ถูกกำกับดูแล เมื่อเข้ามาบริหาร ทิศทางของ ก.ล.ต. จึงเปิดกว้างที่จะรับฟังเสียงของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเกือบทุกเรื่อง พบว่าการปรับแก้ไข กฏ ระเบียบ ประกาศต่างๆ ต้องมีการรับฟังเสียง หรือ Public Hearing เกือบทุกเรื่อง จนมีเสียงเล็ดลอดออกมาจากตึกสีเทา-วิภาวดีซอยสาม ว่า รับฟังเสียงจากทุกทิศ จะรับฟังเสียงลูกน้อง-เจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. บ้างไหมนะ…กระเซ้ากันน๊ะนะ… แต่พบว่าทำให้องค์กรแห่งนี้ลบภาพครึมๆ ลงไปได้มากโข จับต้องได้ เข้าถึง แต่จริงจังในหลักการ
มีการวางแผนงานสามปี ที่บอกเล่ากับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องฟัง ทุกๆต้นปี เหมือนมีนัดกันแบบมีเข็มทิศที่จะเดินไปในทิศทางนี้แหละ เลี้ยวซ้าย ตรงไป ลงเนิน ขึ้นเขา ไปด้วยกัน ด้วยความเข้าใจ นอกจากบทกำกับ บทลงโทษ ยังมีบทเดินเข้าหา เข้าพบ อธิบายเพียงไม่กี่คำ ระดับผู้นำองค์กรเป็นอันเข้าใจว่า หลายเรื่องทำได้ด้วยตัวเอง เหมือนกับที่เรารู้กันว่า การออกกำลังกายทำให้สุขภาพแข็งแรง ไกลโรค อายุยืนยาว เปรียบเหมือนการมีธรรมาภิบาล จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้องค์กรได้เช่นกัน
ในยุคของ “รพี” มีหลายเรื่องที่ผ่านกาลเวลาของการเกาะติด จนมาถึงกาลสุกง่อมในมือของเขา จึงจรดปลายปากกาฟันฉับ ด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่ง หมายถึง การปรับเป็นเงินให้ชดใช้การกระทำความผิด เป็นจังหวะที่ พรบ.หลักทรัพย์ มีผลบังคับใช้เมื่อต้นปี 2560 พอดี พบว่า มี คนดัง “ร่วมสมัย” กับเขาหลายคน อาทิ ชัย โสภณพนิช, ก่อศักด์ ไชยรัศมีศักดิ์ ,มิทซึจิ โคโนชิตะ-คนญี่ปุ่นที่รักและขอใช้ชีวิตถาวรในเมืองไทย-ตอนนี้ล่องหน บ้างว่าไปเกร่ๆในประเทศเพื่อนบ้าน, อมร มีมะโน และสดร้อนดังข้ามสัปดาห์-นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ
“รพี” ใช้ชีวิตสบายๆ ในสำนักงานที่เขาทำงานมาตั้งแต่วัยหนุ่ม ลูกน้องทุกคนที่ร่วมในยุคนั้นคุ้นเคยกับการเรียกเขาติดปากว่า “พี่ตุ้ย” มิ้อกลางวัน จะเห็นเลขาฯ ก.ล.ต. ยืนเข้าคิว ซื้ออาหารกลางวัน กับเจ้าหน้าที่คนอื่นที่ฝากท้องไว้ที่ห้องอาหาร ชั้น 11 แรกๆเกร็งกัน ชามแทบหลุดจากมือ หลังๆ มีการชะเง้อมอง อ่อ..สงสัยมีนัดไปทานข้างนอก….
กับงานของสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย เขาเข้าใจ กาลเวลา 30 ปี ย่อมรับรู้งานในยุคเดียวกัน เมื่อหันกลับมามองงานของสมาคมฯ อีกครั้ง คราวนี้มีพัฒนาการขึ้นอีกหลายขีด มีอาสาพิทักษ์สิทธิผู้ถือหุ้น มากกว่าสองร้อยคน เป็นชมรม ชุมชนย่อมๆ ที่แสดงพลังเป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นรายบุคคล จากเดิมที่ต้องควานหาตัวตนว่า พวกเขาอยู่ไหนกันบ้างในตลาดทุน การมีองค์กรตัวแทน ผู้ถือหุ้นรายบุคคล จึงเป็นการบรรจบครบ ในทุกภาคส่วนของผู้มีส่วนได้เสีย
โครงการ “การประเมินคุณภาพ การจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น” จึงเป็นอีกมิติที่เขามองเห็นว่าเป็นด้านอ่อนโยน ที่เหมือนกับการบอกให้คนไทย ไปออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเอง นั่นแหละ
ในวัน Kick-Off Day จึงเป็นวันนัดสำคัญ ที่อาสาพิทักษ์สิทธิผู้ถือหุ้น ถือโอกาสเข้ามาพบ มาฟังอัทเดพข้อมูลใหม่ๆจาก “รพี” อย่างสม่ำเสมอทุกปี
แต่ปีนี้ อาจต่าง เพราะเป็นปีที่เขาครบวาระ จึงเป็นคำอำลา ที่เล่าสู่กันฟัง หลายคนแอบจดจำภาพ บันทึกลงระบบมันสมอง ให้เขายังอยู่ในบันทึกนั้นไปตลอดกาล
แอบเล่าว่า อีกสองปีนับจากนี้ ต้องเว้นวรรค พบกันเพื่อจาก….จากกันเพื่อเจอ… ไม่รับงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน ตามหลักการธรรมาภิบาลที่ดี อาจพักผ่อน ใช้เวลากับครอบครัว มิตรสหาย
ตลาดทุนไทย พร้อมที่จะต้อนรับผู้นำคนใหม่ ที่มาตามวาระของการเปลี่ยนผ่าน ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 นี้ “ รื่นวดี สุวรรณมงคล” เลขาธิการหญิงคนแรกในรอบ 25 ปี และเป็นลำดับที่ 7 ของการก่อตั้ง สำนักงาน ก.ล.ต. อาจเรียกว่า เป็นยุค “ She Economy” ที่อ่อนนอก แข็งใน รับไม้ต่อให้คนคิดไม่ซื่อในตลาดทุนได้สะบัดร้อน กันอีกระลอก….
…………………………………………………………………………………………………..