อดีต ปัจจุบัน อนาคต ไม่ใช่คำพยากรณ์ หมอดูแม่นๆ สำหรับคนเชื่อเรื่องดวงชะตา หากแต่เป็การลุ้นระลึก กับการจองหุ้น ก่อนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเมื่อเข้าตลาดฯแล้ว ก็จะพบราคาตลาดที่เป็นสมดุลของทั้งฝั่งซื้อ และฝั่งขาย
การกำหนดราคา IPO ของหุ้นแต่ละตัว เป็นงานทั้งศาสตร์ และศิลป วิชาการและการตลาด ปัจจัยควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ ดูว่ายากจัง ใครจะรู้อนาคต ไม่ว่าจะราคาออกมาอย่างไร วันเทรดวันแรก ยังคงต้องลุ้นกันอีก ว่า จังหวะหุ้นเขียว หุ้นแดง อาจถูกดันราคาหรือสอยร่วง ฟุบยาว
“หุ้นจอง” พักหลังๆ มานี้ จึงไม่ค่อยฮอต ให้ลูกค้างอน เมื่อเวลาจัดสรร เป็นเมื่อก่อนได้เกิดอาการโกรธ ย้ายโบรค หอบวอลุ่มหนีกันล่ะ แต่วันนี้ อาการนี้ สงบไปมากโข เพราะราคาไม่แจ่ม เหมือนเดิม ได้หุ้นจอง อาจเป็นทุกขลาภ ลุ้นหุ้นมีอนาคต หุ้นที่รู้จักนิสัยใจคอกันอยู่แล้ว แต่ราคามาเฉียด ๆ กับราคาที่ตั้งใจจะซื้อไว้ ยังมีอนาคต กว่ากัน หลายช่วงตัว
นักลงทุน อย่างพวกเรา อกสั่น ขวัญแขวน ระลึก เมื่อมีหุ้นจองในมือ และตลาดมีอาการไม่ดีก่อนหุ้นเข้าเทรดสัก 3-4 วัน นี่พูดในฝั่งนักลงทุน แต่อีกฝั่งซึ่งเป็นผู้บริหารดูแล บริษัทจดทะเบียน ในฐานะเจ้าของ ”ตลาด” ที่ต้องทำหลายหน้าที่ในเวลาเดียวกัน ทั้งหาสินค้าใหม่ๆ ดูแลสินค้าที่มีอยู่ในตลาดอยู่แล้ว กำจัดสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ-หมายถึงถอดถอนหุ้นออกจากตลาด เป็นต้น
มาตรการ หลังเข้าซื้อขาย หรือ After IPO น่าสนใจ ว่า ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เขาใส่ใจ ในเรื่องใดบ้าง ลองขยับมาดูกันหน่อยคะ
ด้านการตลาด และที่ปรึกษา บริษัทมหาชน ย่อมเป็นที่รู้จักเป็นวงกว้างขวางขึ้น หลักสูตร/โปรแกรมต่างๆ ที่จัดสรรให้กับบุคคลากร ได้แก่ การใช้เครื่องมือทางการเงิน อัพเดทเกณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวข้อง ฟังดูน่าสนุกจัง
การเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นข้อดีด้านการตลาดยิ่งนัก หลายแห่ง บอกว่าประหยัดค่าโฆษณาไปมากโข เพราะจะมีการพูดถึงในสื่อต่างๆ แบบไม่ต้องจ้าง เพราะมีความเป็นเจ้าของร่วม เมื่อเข้าซื้อหุ้น เรื่องนี้ผู้บริหารระดับเบอร์หนึ่ง รู้ดี เป็น CEO Marketing คู่แบรนด์ของบริษัท พอเจอหน้าก็อ๋อ..ทันที ว่าเป็นบริษัทใด แต่ในทางตรงกันข้าม หากซีอีโอ ท่านนั้นไปทำอะไรที่ผิดเพี้ยนไป ก็จะเกิดอาการย้อนศร ทำลายแบรนด์ลงได้เช่นกัน สื่อมีสองคมเสมอ
การตลาดที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ มีส่วนสนับสนุนให้บริษัทเป็นที่รู้จัก มีหลากหลายเรื่องราว หลายกิจกรรม ด้วยว่าเป็นประหนึ่งครอบครัวใหญ่ แบ่งออกเป็นหลายกลุ่มอุตสาหกรรม นักลงทุนจึงมีช่องทางในการติดตามได้ ตามที่ชอบ เพราะเชื่อว่าแต่ละกลุ่ม อาจมีหุ้นในดวงใจ หรือเป็นแฟนคลับของซีอีโอกันอยู่บ้างแล้ว
ในซีกส่วนของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ต้องดูแลบริษัทจดทะเบียน ในฐานะการเป็นเจ้าของตลาด ที่ดูแลสินค้าทุกรายการ ย่อมมีงานที่ต้องตามมาอีกมากมาย และมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามมาอีกมากมายด้วยเช่นกัน ผู้ลงทุนควรหมั่นติดตาม
อีกด้านที่สำคัญ คือ เกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะตามเกณฑ์ ไม่มากไป-ที่จะเป็นเชิงเสียเปรียบต่อคู่แข่ง ไม่น้อยไป-จนเป็นการปกปิดข้อมูล ไม่สมกับที่เป็นบริษัทมหาชน ไม่งั้นต้องกลับไปเป็นบริษัท ปาป๊า มาม๊า กันเหมือนเดิม ความพอดี อาจบอกกันยากว่าระดับใด เราจึงเรียกกันว่า “ธรรมาภิบาล” ไงล่ะ
นอกจากการดูแลแล้ว ยังต้องมีกฏเข้มๆ ไว้คอยกำกับหวดลูก หากเดินออกนอกลู่ นอกทาง เครื่องมือมีหลายขนาด ตั้งแต่ ขึ้นเครื่องหมายเตือนผู้ลงทุน เช่น Cash Balance,NP,SP,NC จนถึงเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ไป
วัฏจักรของหุ้นแต่ละตัว ไม่ต่างกับวัฏจักรชีวิตของมนุษย์ ที่มี เกิด แก่ เจ็บ (จน) ตาย แต่การปรับสายน้ำแห่งชีวิต ให้สาว-หนุ่ม กราฟไม่ตก คือ วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ที่จะนำพานาวาแห่งชีวิตก้าวเดินอย่างมั่นคง ไม่ว่าจะเจอพายุฝน ลมแรง และมีคนรุ่นใหม่เข้ามารับช่วงงานกันเป็นทอดๆ
น้อยที่สุดในวันนี้ คือ การอุ่นใจว่า การดูแลหุ้น หลัง IPO เขามีรองรับไว้ในระดับที่เป็นมาตรฐาน มีหลักการ แต่การตัดสินใน เป็นของผู้ลงทุน และการจะขายหุ้นแพงตอน IPO ก็เป็นหนังอีกม้วน ที่ต้องคุยกันอีกยาว เพราะล้วนเป็นศาสตร์และศิลป์ ที่ไม่สูตรสำเร็จตายตัว ยุคนี้เป็น DIY-Do It Yourself ชอบอย่างไหน ทำอย่างนั้น ชอบเสี่ยงแต่ผลตอบแทนสูง ยอมเสี่ยงเชิญ หรือไม่กล้า ขอเซฟๆ ก็เลือกได้เองอีกเช่นกัน…
ก่อน-หลัง IPO ถึงมักมีเรื่องเล่าสนุก อยากฟังต่อ ต้องเข้าไปในวงของที่ปรึกษาทางการเงินหรือ IB หรือ FA พวกเขามีชีวิตการทำงานที่น่าทึ่งจริงๆ…