หลายคน กังวลใจอยู่ไม่น้อย กับโลกการลงทุน แต่พวกเขายอมรับว่า โลกใบนี้เปลี่ยนไปแล้ว การใช้ชีวิตอยู่อย่างมีความสุข หรือ อยู่ให้ได้ ย่อมต้องปรับตัวเช่นกัน
เมื่อเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้า มาทดแทนการทำงานของมนุษย์ ที่ยากแท้หยั่งถึง อาทิ การมีหุ่นยนต์ สิ่งประดิษฐฉลาดๆ ที่เข้ามาคำนวนความซับซ้อนทดแทนมันสมองของมนุษย์ที่มีข้อจำกัดด้านหน่วยความจำ
ทำให้หลายคน กังวลใจว่า อาจตกงานแบบฟ้าแล่บ เมื่ออายุยืนยาว ไม่มีงานทำ ชีวิตจะทำอย่างไร…แต่สิ่งที่เครื่องจักรยังทดแทนมนุษย์ยังไม่ได้ คือ อารมย์สุนทรี ละเอียดอ่อน ความรัก ความเอื้ออาทร ความซื่อสัตย์
สิ่งนี้แหละ ที่ทำให้ น่าย้อนกลับมาดูว่า คนที่ทำงานในตลาดทุนไทย นอกเหนือจากที่ทำหน้าที่ในฝ่ายงานต่างๆ ตามความเหมาะสมของแต่ละสายงานแล้ว ยังมีกลุ่มที่ต้องมี “ใบอนุญาต” จากหน่วยงานกำกับ มีกลุ่มงานใดบ้าง
“ใบอนุญาต” เป็นการแสดงคุณภาพของการทำงานและเป็นขึ้นทะเบียนการกำกับการทำงานให้ถูกต้อง บนความไว้วางใจในคราวเดียวกัน เพราะในอดีต เคยมีกรณีฉ้อฉล ทำให้หลายฝ่ายไม่สบายใจ มีกลุ่มใดบ้าง ตามไปดูกัน…
กลุ่มนักวิเคราะห์การลงทุน : ที่เราเห็นนักวิเคราะห์ออกมาวิเคราะห์หุ้น กลุ่มโน้น ตัวโน้น ตัวนี่ พวกเขาต้องมีใบอนุญาต ใช่ว่าจะออกมาพูดได้ตามชอบใจ ในอดีต เคยมี “การเชียร์-การแช่งหุ้น” ผลประโยชน์ ที่ไม่เข้าใคร ออกใคร จึงควรมีการกำกับดูแลตามสายวิชาชีพ ของงานวิเคราะห์ วิจัย ไม่ว่าจะเป็นสายวิเคราะห์พื้นฐาน หรือ สายเทคนิคคัล มีจำนวนราว 738 คน เรื่องนี้ ตันสังกัดของนักวิเคราะห์ เช่น โบรกเกอร์ จะต้องเป็นคนรับผิดชอบ ร่วมรับผิด-รับชอบด้วย
กลุ่มผู้แนะนำการลงทุน : เป็นอาชีพพื้นฐาน ต้องผ่านการสอบตามสายวิชาชีพ อาจไม่ซับซ้อนนัก สามารถยึดเป็นอาชีพอิสระได้ จำนวนราว 52,044 คน
กลุ่มตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน : กลุ่มนี้จะมุ่งกลุ่มลูกค้าที่ลงทุนในหน่วยลงทุนเป็นหลัก คนทำงานมีราว 13,590 คน
กลุ่มตัวแทนด้านการตลาดกองทุนส่วนบุคคล : เป็นการทำงานที่ใกล้ชิดกับผู้ลงทุน ที่ต้องการคำแนะนำเป็นการเฉพาะตัว อาจเป็นความลับที่ต้องการมืออาชีพ ในการให้คำแนะนำ อย่างมีหลักการ กลุ่มนี้มีคนทำงานราว 2,265 คน
กลุ่มผู้วางแผนการลงทุน : วิชาชีพนี้ ก็มีความสำคัญไม่น้อย ชีวิตยังต้องวางแผน การลงทุนก็เช่นกัน มีคนทำอาชีพนี้ ราว 2,522 คน
กลุ่มที่ปรึกษาทางการเงิน : กลุ่มนี้ นักลงทุนคุ้นเคยกันโดยทั่วไป พวกเขาทำหลายหน้าที่ อาทิ การคำนวนมูลค่าหุ้น ตอนขาย IPO มูลค่าทรัพย์สิน การวางกรอบทางการเงิน อาจเรียกตามงานที่ทำเป็นกรณีไป เช่น ที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ วานิชธนากร เป็นต้น และหากจะทำงานแบบโกอินเตอร์ ต้องสอบให้ได้ระดับสากล ที่เรียกว่า CFA ที่เรามักเห็น ห้อยท้ายชื่อ ในนามบัตรนั่นแหละ กลุ่มนี่ มีราว 380 คน
กลุ่มผู้จัดการกองทุน : เป็นมืออาชีพ ที่ถูกมอบหมาย ให้ดูแลเงิน นับหมื่น นับแสนล้านบาท ในการดูแลบริหารเงินลงทุนให้งอกเงย ลำพังเงินฝากแบงค์ปกติก็มีดอกเบี้ยรับ แต่จะให้โชว์ฝีมือ อย่างน้อย ควรต้องมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก ไม่งั้นปล่อยเงินทั้งก้อนไว้ที่แบงค์ปลอดภัยกว่า การกระจายเงินลงทุน กระจายความเสี่ยง เพื่อแสวงหาผลตอบแทน จึงเป็นสุดยอดฝีมือ ของคนทำงานกลุ่มนี้ ที่มีเพียงราว 328 คน
ทั้งหมด จึงมีคนทำงานในตลาดทุน ราว 71,867 คน ( ตัวเลขสถิติ เมื่อปี 2560-ลงทะเบียนกับ สำนักงาน ก.ล.ต.) วันนี้ อาจตอบไม่ได้ทั้งหมดว่า งานในมือของพวกเขา จะทดแทนได้ด้วย เครื่องจักร หรือไม่ จึงขอเอาใจช่วย และให้กำลังใจว่า เดินหน้าการพัฒนาตนเองต่อไป มนุษย์มีเลือดเนื้อ มีจิตวิญญาณ ที่สัมผัสระหว่างกันได้ ความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ การทำงานแบบมืออาชีพ จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ มีพลังศรัทธา เป็นแนวทางที่ยืนยาว เพราะมนุษย์ ไม่ใช่เครื่องจักร ต้องการความรักและความเข้าใจ ยังใช้ได้เสมอ แม้จะมีหุ่นยนต์มาทำงานแทนเราแล้วก็ตาม……